หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า สินค้า POD ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว และอาจจะมีบางคนสงสัยว่า สินค้า POD นั้นคืออะไร มีสินค้าอะไรบ้างที่เราเรียกว่าสินค้า POD แล้วเพราะอะไรมันถึงเป็นที่นิยมในต่างประเทศมาก่อน ซึ่งในไทยเราจะยังไม่ค่อยได้เห็นผ่านตากันมากนัก
สินค้า Print On Demand (POD)
สินค้า POD นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำธุรกิจแบบดรอปชิป ถ้าจะให้แปลตรงตัวก็คือ เป็นสินค้าประเภทที่สามารถสั่งผลิตโดยการพิมพ์ขึ้นมา ตามจำนวนความต้องการสั่งซื้อนั่นเอง
ผมยกตัวอย่างเช่น เสื้อยืด ปกติร้านขายเสื้อยืดทั่วไป ถ้าเค้าต้องการจะขายเสื้อยืด 1 ลาย ร้านค้าจะต้องสั่งเสื้อมาเป็นล็อตใช่มั้ยครับ เช่น ครั้งละ 100 ตัวหรือต่ำๆเลยก็ 20-30 ตัว และเนื่องจากเราสั่งมาเพื่อขาย 1 ลายเรายังต้องสั่งมาหลายไซส์อีกใช่มั้ยครับ S, M, L โดยที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำนะครับว่าลายนั้นๆจะขายได้มั้ย
แต่เจ้าสินค้า POD นั้น เมื่อลูกค้าสั่งซื้อเสื้อแค่ 1 ตัว ไซส์ไหน สีไหนก็ได้ และด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล ลายเสื้อที่เราได้ออกแบบเป็นไฟล์กราฟฟิคไว้ จะถูกอัพโหลดผ่าน Internet และวิ่งเข้าหาเครื่องจักรในโรงงานโดยตรงแบบอัตโนมัติ เครื่องจักรก็จะทำการพิมพ์ลายบนผ้านั้นจนเสร็จ และคนงานก็นำไปส่งไปยังลูกค้าภายในวันเดียวกันได้เลย
ดีมั้ยครับ? ซึ่งในยุคแรกเริ่มนั้นสินค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเสื้อยืดเป็นหลักครับ
มี Platform อะไรบ้างที่ให้บริการ Print On Demand
อย่างที่บอกไว้ครับในยุคเริ่มแรกนั้นเว็บต่างๆที่เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ POD ส่วนใหญ่นั้นส่วนใหญ่จะเริ่มจากการขายเสื้อยืด แล้วภายหลังก็จะเริ่มมีสินค้าเล็กๆน้อยๆเข้ามาขายเพิ่มเติมเช่น แก้วน้ำ สติกเกอร์ สร้อยคอ เป็นต้น
ขั้นตอนการใช้งานแพลตฟอร์ม POD เหล่านี้ก็มักมีขั้นตอนหลักๆเหมือนกันดังนี้
- Design – ออกแบบลายกราฟฟิคและอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์
- Promote – ลงโฆษณาช่องทางต่างๆเช่น Facebook™, Google เพื่อให้คนเข้าไปซื้อสินค้าในหน้าสินค้าของแพลตฟอร์ม
- Profit – รับกำไรจากส่วนต่างของราคาที่เราตั้งขายกับต้นทุนของสินค้าที่แพลตฟอร์มเป็นผู้กำหนด
วีดีโอตัวอย่างการนำรูปภาพอัพโหลดขึ้นไปใส่บนสินค้าบนแพลตฟอร์ม TeeSpring
รูปที่ใช้เป็นแค่ตัวอย่างสาธิตให้ดู ห้ามนำรูปภาพลิขสิทธ์ไปขายนะครับ 🙂
แพลตฟอร์ม POD ที่เป็นที่นิยมในช่วงแรกๆ ประกอบด้วย
1. Teespring
เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยม ที่บรรดานักการตลาดนิยมใช้กันมากในช่วงแรก และเนื่องจากมีคอร์สสอนการขายเสื้อยืดด้วย Teespring อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีคนสนใจที่จะมาหารายได้จาก Teespring เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความง่ายในการใช้งานถือเป็นข้อที่โดดเด่นมากสำหรับ Teespring
คุณสมบัติเด่น:
- ฟรี – ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าใช้งาน
- ใช้งานง่าย – หน้าตาเว็บไซต์ดูสะอาดใช้งานง่าย เสถียร
- ไม่มีขั้นต่ำ – ถ้ามีคนสั่งสินค้าที่คุณออกแบบเพียงแค่ 1 ชิ้น Teespring ก็ยังคงผลิตสินค้าให้คุณ
- ฐานลูกค้า – เนื่องจาก Teespring เป็นแบรนด์ที่มีคนรู้จักกันดี ทำให้มีฐานลูกค้าเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก
2. ViralStyle
ViralStyle สร้างขึ้นจากนักการตลาด ที่เห็นช่องว่างของแพลตฟอร์มอื่นๆที่ ยังขาดฟีเจอร์สำคัญๆที่ช่วยในการขายให้กับนักการตลาดที่มีความเชียวชาญ (Marketer to Marketer) แต่ภายหลังก็เริ่มจะแผ่วๆไป เนื่องจากแพลตฟอร์มอื่นๆก็ปรับตัว และพัฒนาตามมาได้ทัน
คุณสมบัติเด่น:
- ฟรี – ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าใช้งาน (ช่วงแรกมีเสียค่าเข้า)
- ออกแบบในมุมมองนักการตลาด – ฟีเจอร์ต่างๆที่ออกแบบมารองรับนักการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะ
3. Gearbubble
เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นจากนักการตลาดออนไลน์เช่นกัน เจ้าของคือ Donal Wilson ซึ่งแต่ก่อนก็เป็นนักการตลาดรุ่นแรกที่สอนการทำการตลาดขายสินค้า POD ผ่าน Teespring ซึ่งในภายหลังได้เปิดตัว Gearbubble Pro ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม POD ในยุคที่ 2 ที่จะกล่าวถึงในภายหลัง
คุณสมบัติเด่น:
- ฟรี – ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าใช้งาน
- มีกลุ่มสังคมของผู้ขายที่เข้มแข็ง – กลุ่ม FB ของ Gearbubble นั้นมีการอัพเดทข่าวสาร สินค้า เทรนต่างๆอยู่อย่างสม่ำเสมอ
- สามารถอัพเกรดได้ – สินค้าต่างๆที่ลงใน Gearbubble ถ้าต้องการไปยังระบบที่ขั้นสูงกว่าอย่าง Gearbubble Pro ก็สามารถนำสินค้าเก่าเข้าไปใช้งานได้ทันที
4. Teechip
เว็บไซต์ TeeChip เป็นแหล่งที่นักขายเสื้อยืด เคยให้ความนิยมสูงเช่นกัน เนื่องด้วยราคาต้นทุนต่อเสื้อที่ต่ำกว่าเจ้าอื่นๆในตลาดในช่วงแรกและ Teechip เป็นแพลตฟอร์มที่มีความเข้มงวดน้อยกว่าเจ้าอื่น ซึ่งก็เป็นสาเหตุให้สินค้าประเภท Trademark หรือผิดลิขสิทธิ์เข้าไปลงขายเป็นจำนวนมาก มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าพอสมควร
คุณสมบัติเด่น:
- ฟรี – ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าใช้งาน
- ต้นทุนต่ำ – ต้นทุนต่อชิ้นของสินค้าต่ำกว่าหลายแพลตฟอร์ม
5. Sunfrog
เป็นอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ด้านเสื้อยืดพิมพ์ลาย Sunfrog มีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยมีจำนวนสินค้า (ลาย) ให้เลือกเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆในยุคเริ่มต้น ราคาขายเสื้อยืดบน Sunfrog มีราคาถูก ทำให้เป็นที่นิยมมากในหมู่ลูกค้าทั่วไป
คุณสมบัติเด่น:
- ฟรี – ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าใช้งาน
- ราคาถูกสำหรับลูกค้า – สำหรับเสื้อยือราคาถูก Sunfrog ถือเป็นตัวเลือกต้นๆในใจของลูกค้าเลยทีเดียว
- ฐานลูกค้า – เนื่องจาก Sunfrog เป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน ฐานลูกค้าเก่าจึงมีอยู่มาก
6. Zazzle
Zazzle เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มของ POD ที่มีความเฉพาะตัวมาก อาจจะเนื่องจาก Zazzle เป็นบริษัทในฝั่งยุโรป ไม่เหมือนกับเจ้าอื่นๆส่วนใหญ่ที่อยู่ อเมริกา สินค้าบนแพลตฟอร์มจะออกไปในทางสร้างสินค้า DIY หรือให้เป็นของขวัญ สินค้าที่เป็นที่นิยมขายบน Zazzle ได้แก่ เสื้อยืด, รองเท้า, หุ้มขา, กระเป๋า, คำเชิญ, แก้ว, เครื่องใช้สำนักงาน, ผ้ากันเปื้อนและอื่น ๆ อีกมากมาย
คุณสมบัติเด่น:
- ฟรี – ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนในการเข้าใช้งาน
- คุณภาพสินค้า– สินค้าของ Zazzle เป็นที่ไว้วางใจได้ว่าเป็นของมีคุณภาพ
- ฐานลูกค้า – มีฐานลูกค้าอยู่ในยุโรปเป็นจำนวนมาก
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีแพลตฟอร์ม POD ในยุคเริ่มแรกอีกหลากหลายเว็บไซต์ เดี๋ยวเราไปค่อยไปดูกันต่อว่า POD ในยุคถัดไปเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง
สรุป
ในยุคเริ่มต้นของการทำ POD นั้น คนนิยมที่จะไปทำบนแพลตฟอร์มต่างๆกันมาก อันเนื่องมากจาความง่าย และรวดเร็วในการที่ออกแบบเสร็จ ก็สามารถอัพโหลดขึ้น แล้วก็ลงโฆษณาขายสินค้าได้ทันที ทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกับธุรกิจ POD ในช่วงแรก
แต่เนื่องจากตัวสินค้าทั้งหมดนะจะอยู่บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น ของแพลตฟอร์ม POD ต่างๆเหล่านั้น และผู้ขายจะได้กำไรจากส่วนแบ่งตามที่กำหนดไว้ในแต่ละแพลตฟอร์มนั่นเอง สิ่งสำคัญคือผู้ขายไม่สามารถที่จะปรับแต่งเว็บไซต์ เพิ่มวิธีการทำการตลาดใหม่ๆ รวมถึงข้อมูลลูกค้าที่แพลตฟอร์มเก็บไว้ใช้เอง
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ POD เติบโตไปอยู่ในรูปแบบที่ผู้ขายสามารถควบคุมข้อมูลลูค้า ขั้นตอนการทำการตลาดที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
ปล. รออ่าน POD ในยุคที่ผู้ขายเป็นผู้คุมเกมส์ได้ในบทความถัดไปครับ